แผ่นสามมิติคืออะไร

การทำภาพสามมิติแบบเลนติกูล่าร์ เป็นกระบวนการพิมพ์ภาพ 2 มิติ ให้เป็นภาพสามมิติ และมีลักษณะโปร่งแสง  ซึ่งไม่ต้องใช้แว่นตาสามมิติ หรือเครื่องมืออื่นใดเพื่อช่วยในการมอง  เพียงแต่เทคโนโลยีภาพสามมิติแบบเลนติกูล่าร์นี้  ได้วางแว่นตาไว้บนภาพแทนแล้ว  ซึ่งโดยปกติแล้วภาพจะถูกพิมพ์ลงบนกระดาษและเคลือบด้วยแผ่นสามมิติ

 

แผ่นสามมิติ หรือที่เรียกว่า “แผ่นเลนติกูล่าร์ (Lenticular Sheet)”  เป็นวัสดุที่ผลิตจากแผ่นพลาสติกที่ผลิตจากขบวนการพิเศษ เพื่อให้ด้านหน้าของแผ่นเลนติกูล่าร์ซึ่งมีลักษณะโค้งนูน (Curve) และความชัน (Slope) ออกมาเป็นแนวเส้นตามแนวตั้งในแนวเดียวกัน ที่มีลักษณะคล้ายเลนส์นูน เพื่อใช้ในการทำให้เกิดภาพสามมิติ  และเคลือบด้านหลังซึ่งมีลักษณะเรียบ เพื่อให้สามารถพิมพ์ภาพลงไปได้

 

 

วัสดุที่ใช้ทำแผ่นเลนติกูล่าร์  ในปัจจุบันนี้จะมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่

- PET (Poly Ethylene Terephthalate) เป็นพลาสติกที่มีความใส่ มีคุณสมบัติที่ดีในเรื่องของความทนทานสูง

- PP (Poly Propylene) เป็นพลาสติกที่สามารถสัมผัสกับอาหารได้โดยตรง เช่นเดียวกัน มีความใสและทนทานน้อยกว่า PET แต่มากกว่า PVC

- PVC (Poly Vinyl Chloride) เป็นพลาสติกที่ได้จากผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมันปิโตรเลียมและสารคลอรีน ดังนั้นจึงไม่ควรนำมาใช้กับงานที่สัมผัสกับอาหารโดยตรง ความใสน้อยกว่าและความคงทนน้อยกว่าด้วยกว่าและความยาก

 

แผ่นเลนติกูล่าร์นี้จะมีหลายเบอร์ที่แตกต่างกันออกไป  ซึ่งเบอร์ที่แตกต่างกัน เราจะดูได้จากจำนวนเส้นเลนส์ที่นับได้ใน 1 นิ้ว  โดยทั่วไปจำนวนเส้นเลนส์ของแผ่นเลนติกูล่าร์ จะอยู่ที่ระหว่าง 10 ถึง 200 เส้นต่อนิ้ว (LPI = Line per Inch)  หรืออาจจะมากกว่านนี้ก็ได้  โดยปกติแล้วแผ่นเลนส์ที่มีจำนวนเส้นเลนส์ต่อนิ้วที่ต่ำ จะใช้กับภาพระยะมองที่ไกลกว่า  แผ่นเลนส์ที่มีเส้นเลนส์ต่ำ (จะเป็นวัสดุหนา และมีความโค้งงอต่ำ) จะใช้สำหรับภาพขนาดใหญ่ และแผ่นเลนส์ที่มีเส้นเลนส์มาก (จะเป็นวัสดุบาง และมีความโค้งงอได้สูงกว่า) จะใช้สำหรับงานขนาดเล็กๆ เช่น โปสการ์ด, นามบัตร